2554/03/24

บทความวิจัย_การพัฒนาชุดการสอนแบบสืบเสาะความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กระดับชั้นอนุบาลปีที่2

การพัฒนาชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์
ของเด็กระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2
THE DEVELOPMENT OF INSTRUCTIONAL PACKAGES INQUIRY- BASED
FOR MATHEMATICS READINESS FOR SECOND-YEAR
KINDERGARTEN STUDENT

นางสาวปทิตตา  วิเศษบุบผา *
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมุข กอปรสิริพัฒน์ **
ดร.รุ่งโรจน์  พงศ์กิจวิทูร ***

บทคัดย่อ 
          การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดการสอนตามวิธี สอนแบบเทคนิคสืบเสาะความรู้ตามเกณฑ์ 80/80 เพื่อศึกษาความพร้อมทางคณิตศาสตร์หลังการใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะ ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนระดับอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา และโรงเรียนอนุบาล ก.ไก่ ประกอบด้วย กลุ่มการหาประสิทธิภาพ ทดสอบรายบุคคลจำนวน 3 คน ทดสอบกลุ่มเล็กจำนวน 6 คน ทดสอบกลุ่มใหญ่จำนวน 21 คน ทั้งหมด 30 การหาประสิทธิภาพเครื่องมือใช้วิธี E1 / E2 ตามเกณฑ์ 80/80 คน และกลุ่มตัวอย่างในการทดลองเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ทั้งหมด 39 คน และ วิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และ การทดสอบค่าที (t-test) ผลการศึกษาพบว่า
1.  ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของ นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพผ่านเกณฑ์ 81.66/84.89 เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ 80/802.  ผลความพร้อมทางคณิตศาสตร์หลังการใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 สูงกว่าร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
________________________________________
*     นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ม.ราชภัฏนครราชสีมา
**   ประธานกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
***  กรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

ABSTRACT
          The purposes of this study were to develop the inquiry instructional package efficiency based on 80 / 80 criteria and to compare the enthematics readiness pretest and posttest results treated by using the inquiry instructional packages for arithmetic readiness instigation of second-year children.
          The subjects were 50 second-year children at Nakhon Ratchasima  kindergarten ; the 30 subjects for investigating the inquiry instructional package efficiency  3 children for individual instruction, 6 for small group, and 21 for big group. The other 39 subjects were prescribed in the experimental group. The inquiry instructional package efficiency was determined by the E1/E2 : 80/80 criterion technique. The statistical procedures for data analysis of comparing for the subjects’ performances were mean, standard deviation, and t-test.
          The research were found as follows :
1.  The inquiry instructional packages efficiency for enthematics readiness investigation of the second-year children at Nakhon Ratchasima kindergarten was      81.66 / 84.89, higher than the 80 / 80 set for the inquiry instructional package efficiency criteria. Therefore, the inquiry instructional packages constructed by the researcher were acceptably efficient.
2.  The posttest performance as the result of the treatment using the inquiry instructional packages for arithmetic readiness instigation of the second-year kindergarten student was significantly higher posttest than 80 percent at .05 level.

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา 
           จากรายงาน ผลการสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (NT) ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2549 และปีการศึกษา 2550 พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 52.52 และ 45.22 ตามลำดับ ขณะที่ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2546-2550 พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 44.73,  47.70,  46.02,  36.57 และ 48.03 (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 กระทรวงศึกษาธิการ, 2547  ;  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 กระทรวงศึกษาธิการ, 2550) ตามลำดับ  จากรายงานข้างต้นจะเห็นได้ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ยิ่งเรียน ระดับสูงขึ้นไป คะแนนเฉลี่ยร้อยละลดน้อยลงยิ่งในระดับประถมศึกษาช่วงชั้นที่ 2 ต้องย้ายระดับไปสู่ระดับที่สูงขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับรายวิชาอื่นวิชาคณิตศาสตร์ก็ยังเป็นวิชาที่มีคะแนน เฉลี่ยร้อยละน้อยกว่ากลุ่มวิชาทักษะอื่นๆ  ในเด็กโตจำนวนมากขาดความรู้และทักษะคณิตศาสตร์ และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเรียนคณิตศาสตร์ทั้งๆที่มีความตระหนักว่า  คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีประโยชน์และมีความสำคัญต่ออนาคต  นอกจากนั้นการเรียนการสอนคณิตศาสตร์มีลักษณะการสอนบนกระดาน ซึ่งทำให้นักเรียนขาดความคิดความเข้าใจของสิ่งที่ทำ และไม่สนุกที่จะทำในที่สุด (เพ็ญจันทร์    เงียบประเสริฐ, 2542)
           การให้การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย  หรือระดับอนุบาล เป็นระยะที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาการ และเป็นวัยที่เรียกว่า ช่วงแห่งพลังการเจริญเติบโตงอกงามสำหรับชีวิต (นันทกา  ปรีดาศักดิ์, 2548) สอดคล้องกับงานวิจัยของ มนัญญา  บุษยะมา (2543) กล่าวถึงว่าการบังคับให้เด็กเรียนโดยที่ยังไม่พร้อมย่อมทำให้เด็กเกิดความ คับข้องใจทำให้  การเรียนไม่ประสบความสำเร็จ เกิดความท้อถอย ความสนใจลดน้อยลง เกิดทัศนคติไม่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์
             การใช้ชุดการสอนจัดเป็นนวัตกรรมการศึกษาอย่างหนึ่งที่จะช่วยตอบสนองความต้อง การในการจัดการศึกษาปัจจุบันเน้นให้ผู้เรียนมีบทบาทมากขึ้นหรือที่เรียกว่า การเรียนอีกทั้งชุดการสอนเป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน อย่างเป็นระบบโดยใช้สื่อประเภทต่างๆที่สอดคล้องกับเนื้อหาและกิจกรรม (วาโร  เพ็งสวัสดิ์,  2542) ในชั้นเรียนของเด็กปฐมวัย
นักการศึกษาVan de Walle (1994) กล่าวว่า เด็กจะวางรากฐานทางคณิตศาสตร์ไปพร้อมๆกัน คณิตศาสตร์จำเป็นต้องมีความหมายกับตัวเด็ก ครูควรส่งเสริมให้เด็กได้สำรวจ ให้เหตุผล และคิดแก้ปัญหามากกว่าการเรียนโดยการจำกฎเกณฑ์ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ เด็กจำเป็นต้องสร้าง (Construct) ความเข้าใจทางคณิตศาสตร์โดยการคิดด้วยตนเอง ( นภเนตร  ธรรมบวร,  2549)
             จากการศึกษาเทคนิควิธีการสอนผู้วิจัยสนใจการสอนโดยใช้เทคนิคสืบเสาะความรู้ (Inquiry Method) วิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา ด้วยการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าหาความรู้โดยผู้สอนตั้งคำถาม กระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการทางความคิด  หาเหตุผลจนค้นพบความรู้หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องด้วยตนเอง (สุวิทย์  มูลคำ,  2547; ฆนัท  ธาตุทอง, 2550) ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ที่มีการนำสื่อที่สอดคล้องกับเนื้อหา และประสบการณ์ของแต่ละหน่วยจะช่วยให้กิจกรรมการเรียนดำเนินไปอย่างมี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
           ผู้วิจัยมีความเห็นว่าชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้น่าจะเป็น เครื่องมือใน การเตรียมความพร้อมที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์การเรียนคณิตศาสตร์ ผู้วิจัยจึงต้องการพัฒนาชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้เพื่อเตรียม ความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กระดับก่อนประถมศึกษา เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย 
           1. เพื่อพัฒนาชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมทาง 
คณิตศาสตร์ของเด็กระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 และหาประสิทธิภาพชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ตามเกณฑ์ 80/80
           2. เพื่อศึกษาความพร้อมทางคณิตศาสตร์หลังการใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะ ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2

ความสำคัญของการวิจัย
           1. ได้ชุดการสอนแบบสืบเสาะความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับอนุบาลปีที่ 2
           2. ได้ผลความพร้อมทางคณิตศาสตร์หลังการใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความ รู้เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2

ขอบเขตการวิจัย 
           1.  ประชากร 
              ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาและ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาล กไก่ อำเภอเมือง
จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 12 ห้อง 575 คน
           2.  กลุ่มตัวอย่าง
              การศึกษาครั้งนี้ แบ่งกลุ่มตัวในการหาประสิทธิภาพและกลุ่มตัวอย่างในการทดลอง
                2.1  กลุ่มหาประสิทธิภาพจำนวน 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน เพื่อหาประสิทธิภาพเป็นรายบุคคล 3 คน  กลุ่มเล็ก 6 คน  และกลุ่มใหญ่ 21  คน
         2.2  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2  โรงเรียน
อนุบาล นครราชสีมา  อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2   ปีการศึกษา 2551 จำนวน 1 ห้อง  20  คน และนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาล กไก่ 1 ห้อง อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา  จำนวน 1 ห้อง 19 คน นักเรียนทั้งสองกลุ่มได้มาช้วิธีสุ่ม
แบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling)
           3.  ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา
                3.1  ตัวแปรอิสระ คือ วิธีการสอนโดยใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้
                3.2  ตัวแปรตาม    คือ  ความพร้อมทางคณิตศาสตร์
           4.  เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษา 
               เนื้อหาที่ใช้ในการทดลอง  เป็นเนื้อหาการเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ตามแผนการจัดประสบการณ์ชั้น อนุบาลปีที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการ ใช้แผนการจัดประสบการณ์เนื้อหาละ 3 แผน ทั้งหมดจำนวน 12 แผน
          5.  ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา  คือ  ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 ใช้ระยะเวลาทดลองทั้งหมดจำนวน 3 สัปดาห์ 12 คาบๆ ละ 20 นาที ทดลองทั้งหมด 12 ครั้ง

สมมุติฐานการวิจัย 
           ความพร้อมทางคณิตศาสตร์หลังการใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 สูงกว่าก่อนใช้

วิธีดำเนินการวิจัย 
           1.  รูปแบบการวิจัย
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงกลุ่มเดียวไม่มีกลุ่มควบคุม
มีการทดสอบก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ (One Group Pretest-Posttest design)
           2.  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย 
                   2.1  ชุดการสอนที่เรียนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ที่พัฒนาขึ้นผ่าน
การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหาและด้านการออกแบบ จำนวน 4 ชุด ประสิทธิภาพของ
ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้  เมื่อพิจารณาจากค่า E1/E2 เท่ากับ 81.66/84.89 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
                   2.2  แผนการจัดประสบการณ์  สร้างแผนการจัดประสบการณ์ตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้เพื่อพัฒนาความพร้อม ทางคณิตศาสตร์ให้สัมพันธ์กับเนื้อหาที่แบ่งไว้
                   2.3  แบบวัดความพร้อมทางคณิตศาสตร์  ศึกษาแบบวัดความพร้อมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กอนุบาลปีที่ 2 อายุ 3 – 5 ปี ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ศึกษาคู่มือการทดสอบทักษะทางคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมาปีการศึกษา 2546 แบบวัดความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของ มนัญญา  บุษยะมา (2543) และราตรี  โลหะมาศ (2543) เพื่อเป็นแนวในการสร้างแบบวัดความพร้อมทางคณิตศาสตร์ นำคะแนนมาวิเคราะห์หาค่าความยาก (p) และ ค่าอำนาจจำแนก (r) ของแบบทดสอบเป็นรายข้อ คัดเลือกข้อสอบที่มีค่าความยาก (p) ระหว่าง .20-.80 ไว้ หาค่าอำนาจจำแนก (r) ตั้งแต่ .20 ขึ้นไป  คัดเลือกข้อสอบที่มีความยาก และค่าอำนาจจำแนกตามเกณฑ์ จำนวน 36 ข้อ ชึ่ง ค่าความยาก อยู่ระหว่าง 0.41 ถึง 0.65 และค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.30 ถึง 0.70 หาค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดความพร้อม โดยใช้สูตร KR-20 ของ Kuder Richardson (สมบูรณ์  ตันยะ.  2546 : 169) ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.729
                   2.4  แบบสังเกตพฤติกรรม สร้างโดยศึกษาแบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียนสำหรับเด็กอนุบาลปีที่ 2 อายุ 3 – 5 ปี ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย การประเมินพัฒนาการนักเรียนระดับปฐมวัยตามแผนการจัดประสบการณ์ประจำวันของ โรงเรียนอนุบาล ก.ไก่ สมุดรายงานประจำตัวนักเรียนระดับปฐมวัยปีที่ 1-3 โรงเรียนอนุบาล ก.ไก่ มาปรับเทียบเคียงกับแผน
การจัดประสบการณ์ทั้ง 12 แผนเพื่อให้สอดคล้องตรงตามเนื้อหา และศึกษาการจัดประสบการณ์สำคัญ การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 ของโรงเรียนอนุบาล ก.ไก่ 2546 นำมาปรับเทียบกับแผนการจัดประสบการณ์ทั้ง 12 แผน
           3.  การวิเคราะห์ข้อมูล
3.1    สถิติที่ใช้ตรวจสอบหาคุณภาพของเครื่องมือหาประสิทธิภาพของชุดการสอน
ตาม เกณฑ์ E1 / E2 = 80 / 80  หาค่าความยากง่าย (p) ค่าอำนาจจำแนก (r) ค่าความเชื่อมั่นของระดับค่าความยากง่ายระหว่าง .20 -.80 และ ค่าอำนาจจำแนก  .20  ขึ้นไป  นำแบบวัดความพร้อมเลือกตอบที่ได้ไปหาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ สูตร KR-20 ของ Kuder Richardson (สมบูรณ์  ตันยะ.  2546 : 169) จะได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดความพร้อม
3.2   สถิติที่ใช้ในการทดสอบหาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนน
ความพร้อมทางคณิตศาสตร์  และทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยทดสอบค่าที

ผลการวิจัย อภิปรายและข้อเสนอแนะ 
สรุปผลการวิจัย 
           1.  พบว่าประสิทธิภาพของชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้  เมื่อพิจารณาจากค่า E1/E2 กลุ่มรายบุคคลเท่ากับ 70.33/74.44 กลุ่มเล็กเท่ากับ 80.11/81.19และกลุ่มใหญ่เท่ากับ 81.66/84.89 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80 ดังแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ประสิทธิภาพของชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์จากการทดสอบ 3 ขั้น
การทดสอบ                                   ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้
                                                    N                    E1                E2
รายบุคคล                                     3                  70.33            74.44
กลุ่มเล็ก                                       6                  80.11            81.19
กลุ่มใหญ่                                      21                81.66            84.89

          2.  พบว่าผลความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับอนุบาลปีที่ 2 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้หลังใช้ของกลุ่ม ตัวอย่างทั้งหมดมีค่าเฉลี่ย 92.89 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 5.59 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ร้อยละ 80 ในการทดลองดังแสดงในตารางที่ 2
 ตารางที่  2  ศึกษาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2  ที่เรียน
      โดยใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความหลังการใช้ชุดการสอน
______________________________________________________________________________
ความพร้อมทางคณิตศาสตร์        N              X           S.D.          p-value
______________________________________________________________________________
กลุ่มทดลอง                             39          92.89         5.59             .000
กลุ่มที่  1                                 20          33.88         2.04          
กลุ่ม ที่  2                                19          32.84         2.26          ______________________________________________________________________________
P < .05

แสดงพัฒนาการด้านทักษะความพร้อมทางคณิตศาสตร์จำแนกรายด้าน
          กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความพร้อมทางคณิตศาสตร์ด้านการบอกลักษณะอยู่ในช่วง 2.84 ถึง 3.00 สามารถบอกได้ว่านักเรียนมีความพร้อมอยู่ในเกณฑ์ดี
          กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความพร้อมทางคณิตศาสตร์ด้านการจำแนกแยกแยะอยู่ในช่วง 2.63 ถึง 3.00 สามารถบอกได้ว่านักเรียนมีความพร้อมด้านการจำแนกแยกแยะอยู่ในเกณฑ์ดี
          กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความพร้อมทางคณิตศาสตร์ด้านการเปรียบเทียบอยู่ในช่วง 2.63 ถึง 3.00 สามารถบอกได้ว่านักเรียนมีความพร้อมด้านการเปรียบเทียบ อยู่ในเกณฑ์ดี
          กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความพร้อมทางคณิตศาสตร์ด้านการแสดงความคิดเห็นอยู่ใน ช่วง 2.32 ถึง 3.00 สามารถบอกได้ว่านักเรียนมีความพร้อมด้านการแสดงความคิดเห็น
อยู่ในเกณฑ์ดี
          กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความพร้อมทางคณิตศาสตร์ด้านการแก้ปัญหาอยู่ในช่วง
2.42 ถึง 3.00 สามารถบอกได้ว่านักเรียนมีความพร้อมทางคณิตสาสตร์ด้านการแก้ปัญหาอยู่ในเกณฑ์ดี ดังแสดงในภาพที่1
ภาพที่ 1  แสดงพัฒนาการด้านทักษะความพร้อมทางคณิตศาสตร์จำแนกรายด้าน

อภิปรายผล
            การศึกษาครั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมาและโรงเรียนอนุบาล กไก่ เพื่อเป็นการยืนยันผลการใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้เพื่อพัฒนา ความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2  กลุ่มแรกเป็นกลุ่มตัวอย่างนักเรียนโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมาของนักเรียน ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 จากการศึกษาพบว่า ผลความพร้อมทางคณิตศาสตร์หลังการใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 สูงกว่าก่อนใช้ชุดการสอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงว่าชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ทำให้นักเรียนความพร้อมทาง คณิตศาสตร์เกิดการเรียนรู้ได้ดี ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ปรมาภรณ์  อนุพันธ์ (2543) พรพรรณ พึ่งประยูรพงศ์ (2547) Kempler (2006) และ King (2006)
           เมื่อเปรียบเทียบผลความพร้อมทางคณิตศาสตร์หลังใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบ เสาะความรู้พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 ซึ่งตรงตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่า “ความพร้อมทางคณิตศาสตร์หลังการใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 สูงกว่าก่อนใช้” ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากกิจกรรมการเรียนมีความสำคัญต่อการเรียนรู้จะช่วยให้ ผู้เรียนได้รับความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดนำสื่อหลายชิ้นที่สอดคล้อง กันกับวิชา หน่วย หรือหัวเรื่อง มาช่วยในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ  นอกจากนั้นเมื่อนำชุดการสอนมาใช้วิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ทำให้การเรียนมี ประสิทธิภาพสูงขึ้น ครูและผู้เรียนร่วมมือกันเสาะหาความรู้ที่ต้องการ การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สืบเสาะหาความรู้อาจทำให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้น คว้าจากแหล่งวิทยาการต่างๆเป็นห้องเรียนแบบเปิด (เพ็ญศรี  สร้อยเพชร. 2542 : 106 ; สมพงษ์  สิงหะพล.  2545 : 118 ; Heinich และคณะ.  2002 : 16) และจากการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างนักเรียนระดับอนุบาลปีที่ 2  โรงเรียนอนุบาล กไก่ มีค่าเฉลี่ยคะแนนความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของ ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ เท่ากับ 32.84 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 2.26 เมื่อนำไปทดสอบกับเกณฑ์ร้อยละ 80 โดยใช้สถิติทีพบว่าค่าคะแนนความพร้อมสูงกว่าเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 แสดงว่าชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ทำให้นักเรียนความพร้อมทาง คณิตศาสตร์เกิดการเรียนรู้ได้ดี และผลจากแบบวัดพฤติกรรมนักเรียนนักเรียนมีความพร้อมทางคณิตศาสตร์ทักษะ 5 ด้านได้แก่ การบอกลักษณะ การจำแนกแยกแยะ การเปรียบเทียบ การแสดงความคิดเห็น และการแก้ไขปัญหา นักเรียนสามารถปฏิบัติได้อยู่ในเกณฑ์ดี

ข้อเสนอแนะ 
ควร นำรูปแบบชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ไปใช้กับนักเรียนระดับอื่นและ ใช้ร่วมรูปแบบการเรียนรู้อื่น เช่น กระบวนการสร้างองค์ความรู้ การเรียนแบบร่วมมือ เป็นต้น
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการวิจัยในครั้งนี้ 
              1. การเตรียมการทดลองมีความสำคัญในการวิจัยเป็นอย่างยิ่งในการทดลองเก็บข้อมูล การเตรียมแผนการสอน สื่อการสอน กระบวนการสอน การควบคุมเวลาให้เป็นไปตามกำหนดการเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพราะจะส่งผล ต่อประสิทธิภาพ ผู้วิจัยได้เรียนรู้ขั้นตอนดังกล่าวจากการสังเกตขณะทดลองเก็บรวมรวบข้อมูลทำ ให้การทำการทดลองในแต่ละครั้งราบรื่นไปได้ด้วยดี
              2.  หลักฐาน เอกสาร การถ่ายทอดผลงาน เป็นสิ่งที่ต้องเก็บไว้เพื่อทบทวนความถูกต้องและความน่าเชื่อถือในงานวิจัย เช่น การถ่ายภาพประกอบการวิจัย การถ่ายวีดิทัศน์ประกอบการวิจัย การเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานการบันทึกการสังเกตการณ์ทดลอง รายละเอียดในการทดลองวิจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดผลงานวิจัยที่ดี

เอกสารอ้างอิง 

กระทรวงศึกษาธิการ.  (2547).รายงานผลการปฏิบัติงาน กลุ่มนิเทศ ติดตามและ 
ประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 ปีงบประมาณ 2547. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมาเขต 1.

_______.  (2550).รายงานผลการปฏิบัติงาน กลุ่มนิเทศ ติดตามและ ประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1 ปีงบประมาณ 2550. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมาเขต 1.

ฆนัท  ธาตุทอง.  (2550).  การออกแบบการสอนและบูรณาการ.  กรุงเทพฯ : เพชรเกษมการพิมพ์.

นภเนตร  ธรรมบวร.  (2549).  การพัฒนากระบวนการคิดในเด็กปฐมวัย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นันทกา  ปรีดาศักดิ์. (2548). หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย. นครราชสีมา : มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา.

ปรมาภรณ์  อนุพันธ์.  (2543).  การพัฒนาชุดการสอนคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ ชีวิตประจำวันแบบสืบสวนสอบสวน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่องตรรกศาสตร์เบื้องต้น. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาการศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

พรพรรณ  พึ่งประยูรพงศ์.  (2547).  การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ ตามแนวคอนสตรัคติวิสต์ ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบสอบสำหรับผู้เรียนช่วงชั้นที่ 2 ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาการศึกษา  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์.

เพ็ญศรี  สร้อยเพชร. (2542). ชุดการเรียนการสอน. นครปฐม : คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครปฐม. (โครงการตำราวิชาการราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมายุ 6 รอบ)

เพ็ญจันทร์  เงียบประเสริฐ. (2542). คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย. ภูเก็ต : สถาบัน
ราชภัฏภูเก็ต. (โครงการตำราวิชาการราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ).

มนัญญา  บุษยะมา.  (2543).  การพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นอนุบาล. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการประถมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ราตรี  โลหะมาศ.  (2543).  การสร้างชุดการสอนสำหรับครูผู้สอนเพื่อฝึกทักษะกระบวนการคิดของนักเรียนระดับก่อนประถมศึกษา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาการประถมศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

วาโร  เพ็งสวัสดิ์.  (2544).  การวิจัยทางการศึกษาปฐมวัย.  กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาสน์.

สมพงษ์  สิงหะพล. (2545). รูปแบบการสอน. นครราชสีมา : สถาบันราชภัฏนครราชสีมา.
(โครงการตำราเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวิชราลงกรณ์).

สมบูรณ์  ตันยะ.  (2546).  การวิจัยทางการศึกษา.  นครราชสีมา : คณะครุศาสตร์สถาบันราชภัฏนครราชสีมา.

สุวิทย์  มูลคำ.  (2547).  กลยุทธ์ การสอนคิดประยุกต์.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.

Heinich and others.  (2002).  Instructional media and technologies for learning , 7th. ed., Ohio : Merrill.

Kempler, Toni M.  (2006).  Optimizing students’ motivation in inquiry-based learning environments : the role of instructional practices. Dissertation Abstract International. (online).  Available : http//1196410811/proquest.umi.com (2007, January 07).

King, Daniel S.  (2006).  "Inquiry dialogue in kindergarten : A teacher action researchstudy." Dissertation Abstract International. (online).  Available : http//proquest.umi.com (2007, January 07).

กลุ่มตัวอย่างนักเีรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา
กลุ่มตัวอย่างนักเีรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลกไก่
ชุดการสอนตามวิธีสอนแบบสืบเสาะความรู้ (ตัวอย่าง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น